หน้าแรก เว็บบอร์ด


สั่งพิมพ์

สบายดีแล้ว...หยุดยาหัวใจได้มั้ย

สบายดีแล้ว...หยุดยาหัวใจได้มั้ย

ภญ.อัมพร อยู่บาง      “คุณเภสัชคะ คุณปู่ดิฉันเค้าไม่ยอมกินยารักษาโรคหัวใจแล้ว เพราะเค้าอ้างว่าเค้าสบายดีแล้ว ไม่กินมาหลายสัปดาห์แล้ว พยายามบังคับยังไงท่านก็ไม่ยอมทาน ไม่ทราบจะเป็นอะไรมั้ยคะ”


     ประโยคทำนองนี้เป็นคำถามที่ดิฉันได้ยินจากปากญาติผู้ป่วยและตัวผู้ป่วยเองบ่อยๆ เลยค่ะ ซึ่งนับเป็นความเข้าใจที่ผิดมหันต์นะคะ ที่ต้องใช้คำว่า “ผิดมหันต์” เนื่องจากโรคหัวใจในผู้สูงอายุส่วนใหญ่นั่นมักหมายถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตค่ะ ซึ่งกว่าที่แพทย์จะทำการรักษาท่านจนหายดีไม่มีอาการของโรคได้ก็ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจไปมากมายทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยโรค การผ่าตัด การสวนหัวใจ รวมไปถึงการรักษาด้วยยาต่างๆ ด้วย เพราะฉะนั้นในกรณีที่ท่านสบายดีแล้ว หรือไม่มีอาการจากโรคหัวใจก็มิได้หมายความว่าท่านจะไม่มีอาการหลังจากนั้นอีกเลย เพราะการที่ไม่มีอาการก็เนื่องจากมีการตรวจติดตามกับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และรับประทานยาประคับประคองอาการอยู่ตลอด ดังนั้นหากขาดยาเป็นระยะเวลานานอาจทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้นได้ง่ายกว่าผู้ที่รับประทานยาเป็นประจำ ซึ่งบางครั้งอาการที่กำเริบก็อาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
หากกล่าวถึงคำว่า “โรคหัวใจ” นั้นนับเป็นคำที่กินความหมายกว้างมาก โดยอาจแบ่งเป็นประเภทคร่าวๆ ได้ดังนี้
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด      - โรคลิ้นหัวใจ
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจ                - โรคเยื่อหุ้มหัวใจ
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ         - การติดเชื้อที่หัวใจ
- มะเร็งที่หัวใจ                         - โรคหลอดเลือดหัวใจ
ความหมายของโรคหัวใจในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะกรณีของโรคหลอดเลือดหัวใจ เท่านั้นนะคะ
     ก่อนอื่นดิฉันขอนำท่านมาทำความเข้าใจกับโรคหลอดเลือดหัวใจกันก่อน
โรคหลอดเลือดหัวใจ หมายถึงโรคที่เกิดจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงโคโรนารี(Coronary Artery) ซึ่งเป็นหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อเกิดโรคนี้ ลักษณะเฉพาะคือ ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น แข็ง ขรุขระ และตีบแคบ ทำให้เลือดผ่านได้น้อยลง เมื่อเลือดไหลผ่านได้น้อย จึงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจที่อยู่ปลายทางได้รับเลือดไม่พอ ก็จะเกิดอาการจุกแน่นหน้าอก อาการมักเป็นมากขึ้นเมื่อออกกำลังหรือทำงานหนัก


     ในกรณีที่ตะกรันบริเวณบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจที่หนาตัวจนเกิดอาการปริกะเทาะ จะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดที่อยู่ในกระแสเลือดมารวมตัวกันในบริเวณตะกรันที่ปริกะเทาะอยู่ ทำให้หลอดเลือดเกิดการอุดตันอย่างเฉียบพลันจากลิ่มเลือด ถ้าไม่มีการแก้ไขให้เลือดไหลผ่านได้อย่างเพียงพอ กล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดก็จะเกิดบาดเจ็บเสียหาย จนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจตายเป็นหย่อมๆ เรียกว่า ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute Myocardial Infarction) ซึ่งกล้ามเนื้อที่ตายมักจะกระตุ้นให้หัวใจเกิดการเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่เป็นเสียชีวิตอย่างกะทันหันได้ กรณีที่กล้ามเนื้อหัวใจถูกทำลายเป็นบริเวณกว้างและจำนวนมาก ก็ทำให้หน้าที่ของหัวใจในการสูบฉีดเลือดล้มเหลวเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน


     ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเสื่อมของผนังหลอดเลือดหัวใจ มาจากหลายปัจจัย บางชนิดปรับเปลี่ยนไม่ได้ เช่น ประวัติการเป็นโรคของคนในครอบครัว (บิดามารดา และพี่น้องสายตรง) บางชนิดปรับเปลี่ยนหรือควบคุมได้ เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ภาวะอ้วน และการไม่ออกกำลังกาย


      การมีปัจจัยเสี่ยงหลายชนิดร่วมกัน ก็จะทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรคเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ตัวอย่างเช่น การศึกษาพบว่าในชายอายุระหว่าง 30-60 ปี การมีไขมันในเลือดสูงจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงประมาณ 2 เท่า แต่ถ้าสูบบุหรี่ร่วมกับการมีความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูงจะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนธรรมดาถึง 8.5 เท่า


      ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย ระยะเวลาที่มีความดันโลหิตสูงและความรุนแรงมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การควบคุมความดันโลหิตด้วยวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาจะลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและการเกิดอัมพาตได้


     ในปัจจุบันพบว่าการเกิดโรคเบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมากต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จนมีบางคนกล่าวว่าการเป็นโรคเบาหวานก็เหมือนกับก้าวเข้าสู่การเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเข้าไปครึ่งตัวแล้ว โดยอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่เป็นเบาหวานมีสูงถึง 45% เทียบกับในผู้ที่ไม่ได้เป็นเบาหวานที่มีอัตราเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่า 25% จากการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะสามารถทำนายอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้โดยตรง เช่น ในกรณีที่ใช้ระดับค่าน้ำตาลเฉลี่ย (HbA1c) เป็นตัวบอกระดับน้ำตาล พบว่าการมีระดับ HbA1c สูงขึ้น 1% จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 10-30%


     บุหรี่ เป็นอีกปัจจัยสำคัญในการทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน เนื่องจากในควันบุหรี่มีสารพิษหลายอย่างที่เป็นอันตรายต่อหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะสารสำคัญที่มีผลต่อหัวใจ 2 ชนิด คือ นิโคติน และคาร์บอนมอนนอกไซด์

    * นิโคติน ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเสพติดบุหรี่ มีผลทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อัตราเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น หลอดเลือดที่มาเลี้ยงหัวใจหดเกร็งตัว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง และทำให้หัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น
     
      *
คาร์บอนมอนนอกไซด์ สามารถจับกับเม็ดเลือดแดงในกระแสเลือดได้อย่างถาวร จึงเหลือเม็ดเลือดแดงที่จะทำหน้าที่นำพาออกซิเจนและคาร์บอนมอนนอกไซด์ได้น้อยลง กล้ามเนื้อหัวใจก็จะได้รับออกซิเจนน้อยและไม่เพียงพอ ตามปกติเม็ดเลือดแดงจะเคลื่อนผ่านตามหลอดเลือดเล็กๆ ได้โดยการที่ผนังของเม็ดเลือดยืดหยุ่นตัว แต่พอได้รับคาร์บอนมอนนอกไซด์ เม็ดเลือดแดงจะกระด้าง ไม่สามารถหยุ่นตัว จึงซอกแซกไปตามหลอดเลือดเล็กๆ ไม่ได้เกิดการครูดกับผนังหลอดเลือดเป็นแผล ร่างกายก็จะมีขบวนการซ่อมแซมทำให้ผนังหลอดเลือดนั้นๆ ตีบลง ถ้าเป็นกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ก็จะทำให้หัวใจขาดเลือด ดังนั้นปริมาณและระยะเวลาของการสูบบุหรี่จึงมีผลโดยตรงกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ


ยารักษาโรคหัวใจ
     เป็นคำที่ครอบคลุมความหมายกว้างมากเช่นกัน ดังนั้นในบทความนี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะกลุ่มยาที่ใช้กับผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมียาอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน ได้แก่

     * ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ เช่น atenolol, metoprolol, bisoprolol
     
     * ยาลดโคเลสเตอรอล เช่น simvastatin, atorvastatin, pravastatin

     * ยาลดความดันโลหิต เช่น enalapril, amlodipine, felodipine, losartan, candesartan

     * ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ได้แก่ ยากลุ่มไนเตรท (Nitrate) เช่น isosorbide dinitrate, Isosorbide 5-Mononitrate

     * ยาป้องกันการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด ได้แก่ aspirin

     ยาหลายกลุ่มที่กล่าวมานี้แพทย์อาจพิจารณาให้ร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นกับอาการของแต่ละคน ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจทุกรายไม่จำเป็นต้องได้รับยาเหมือนกัน หรือปริมาณเท่ากัน นอกจากนี้ในบางรายที่มีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เบาหวาน โรคไต ก็ต้องทำการรักษาไปด้วยกัน จึงทำให้แต่ละคนมักจะมียารับประทานหลายตัว อาจมีถึง 10 รายการ หรือมากกว่านั้น ซึ่งอาจทำให้รู้สึกเบื่อหน่ายกับการต้องรับประทานยาจำนวนมาก ดังนั้นการทำให้ท่านเหล่านั้น (หรือคุณผู้อ่านที่กำลังมีปัญหาโรคหัวใจ) มีความเข้าใจโรคที่เป็น เหตุผลในการรักษา ร่วมทั้งแรงจูงใจจากญาติพี่น้อง หรือผู้ดูแลใกล้ชิดจึงมีส่วนสำคัญมากในการกระตุ้นให้ผู้ที่เป็นให้ความร่วมมือในการดูแลตนเองและรับประทานยาอย่างต่อเนื่องค่ะ


     อย่าลืมนะคะว่าโรคหลอดเลือดหัวใจเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาด้วยยาหลายประเภทร่วมกัน ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย อย่างไรก็ตามอาจมีโรคหัวใจบางประเภทที่อาจได้รับยาเพียงชั่วขณะ คือท่านสามารถหยุดรับประทานได้ ซึ่งท่านต้องปรึกษาแพทย์เจ้าผู้ทำการรักษาทุกครั้ง ไม่ควรหยุดรับประทานยาเองโดยเด็ดขาด เพราะอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ


ที่มา www.healthtoday.net

TOP

ขอบคุณครับที่เอาสิ่งดีๆมาบอก

TOP

ใจจ้าๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ

TOP