หน้าแรก เว็บบอร์ด


สั่งพิมพ์

โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง

โรคหัวใจในสัตว์เลี้ยง



“หัวใจ” นับเป็นอวัยวะที่สำคัญอวัยวะหนึ่งที่รับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ในการสูบฉีดเลือด เพื่อนำออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติกับระบบหัวใจแล้ว ย่อมส่งผลกระทบกับระบบอื่นๆ ในร่างกายตามมา ไม่ว่าจะเป็นสุนัขหรือแมว ก็มีโอกาสที่จะพบความผิดปกตินี้ได้เช่นเดียวกัน หากเราจะจำแนกความผิดปกติของโรคหัวใจอย่างง่ายๆ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ

ประเภทที่ 1 โรคหัวใจชนิดที่พบมาแต่กำเนิด กล่าวคือความบกพร่องนี้เกิดมาตั้งแต่การพัฒนาในขณะการตั้งท้อง และเกิดเป็นอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ในตอนที่คลอดออกมา เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจเจริญไม่สมบูรณ์ การคงอยู่ขององค์ประกอบบางอย่างของหัวใจ ทำให้ขัดขวางการทำงานของหัวใจ เป็นต้น
               
ประเภทที่ 2 โรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น ลิ้นหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจโต เป็นต้น




ความผิดปกติของสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของพอจะสามารถสังเกตได้ เช่น อาการซึม เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง ไอแห้งๆ เหนื่อยง่าย อ่อนแรง หายใจลำบาก เหงือกซีด เป็นลมหมดสติ หากพบความผิดปกติดังกล่าวแล้ว ระบบหัวใจน่าจะเป็นหนึ่งในความผิดปกติที่ควรจะต้องตรวจเช็คอย่างละเอียด เพราะหากปล่อยให้ปัญหานี้รุนแรงมากขึ้น ความผิดปกติอาจมีความรุนแรงมาก จนต้องได้รับการรักษาอย่างใกล้ชิด และอาจส่งผลต่อระบบอื่นๆตามมาด้วย



(ข้อมูลปี พ.ศ. 2558)



โดยทั่วไปมักพบว่าโรคหัวใจในสัตว์เลี้ยงจะตรวจพบในช่วงวัยกลางของช่วงชีวิต เนื่องจากเป็นโรคที่มักเกิดจากความเสี่อมตามอายุ ความถี่ของโรคหัวใจมักเพิ่มมากขึ้นเมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น และมักพบในสัตว์เพศผู้มากกว่าเพศเมีย  โดยจะพบในสุนัขสายพันธุ์เล็กเป็นส่วนใหญ่ เช่น Poodle, Shih Tzu และ Pomeranian  ส่วนในแมวมักพบในสายพันธุ์ Persian,  Maine Coon และ American Shorthair ได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น




สัตว์เลี้ยงที่ตรวจพบว่าเป็นโรคหัวใจสามารถควบคุมอาการของโรคได้โดยการใช้ยาโรคหัวใจตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ สามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรควบคุมให้อยู่ในช่วงเวลา และระยะเวลาที่พอเหมาะ มีการควบคุมอาหารและน้ำให้มีปริมาณที่เพียงกับความต้องการ ปัจจุบันค่อนข้างมีความสะดวกสบายในการดูแลเรื่องโภชนาการในสัตว์เลี้ยงที่พบปัญหาเรื่องโรคหัวใจ เนื่องจากมีการผลิตอาหารที่ให้สารอาหาร พลังงาน วิตามิน และเกลือแร่ที่เหมาะสมกับภาวะหัวใจเข้ามาให้เลือกใช้

ด้วยการดูแลเฝ้าสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ความเอาใจใส่ของเจ้าของในการเลือกใช้อาหาร การออกกำลังการที่พอเหมาะ การให้ยาอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเฝ้าติดตามการรักษากับสัตว์แพทย์อย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้สัตว์เลี้ยงของเรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ชะลอปัญหาที่จะเกิดขึ้น และอยู่เป็นหนึ่งในสมาชิกของครอบครัวไปตราบนานเท่านาน


โดย…หมอน๊อต  ทีมสัตวแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ

Tel : 02-7126301-4
Fax : 02-7125273
FB : โรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ



[ แก้ไขล่าสุด ThonglorPet เมื่อ 2016-1-27 18:13 ]

TOP