หน้าแรก เว็บบอร์ด


สั่งพิมพ์

ยาขับปัสสาวะ ไม่ใช่ยาขับเชื้อเอดส์

ยาขับปัสสาวะ ไม่ใช่ยาขับเชื้อเอดส์

“ขอซื้อยาขับปัสสาวะหน่อยได้มั้ยครับ” เป็นคำถามที่ดิฉันได้รับจากเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ด้วยความที่เห็นว่าผู้ที่มาขอรับบริการอายุยังน้อย (ไม่น่าเกิน 20 ปี) ด้วยความสงสัยว่าจะเอาไปรักษาอะไร จึงถามไปว่า “จะซื้อไปให้ญาติเหรอคะ หรือว่าใช้เอง เป็นโรคอะไรคะ” ก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า “จะนำไปให้เพื่อน เพื่อนฝากซื้อบอกว่าป้องกันโรคเอดส์ได้” ดิฉันถึงกับตะลึงเพราะชีวิตนี้เกิดมาเรียนเภสัชมาก็หลายปีไม่เคยได้ยินเรื่องนี้มาก่อนเลย ซักไปซักมาก็ทราบว่าเด็กวัยรุ่นคนนี้และเพื่อนในกลุ่มเข้าใจว่ายาขับปัสสาวะสามารถขับล้างเชื้อเอชไอวี หรือเอดส์ได้ โดยไม่ต้องสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ เพียงกินยานี้หลังจากการมีเพศสัมพันธ์เชื้อก็จะถูกขับออกหมด ยิ่งกินมากปัสสาวะมากก็ล้างเชื้อได้มากเท่านั้น ทำให้ต้องมีการทำความเข้าใจกับเด็กชายคนนั้นอยู่นาน และไม่ขายยาให้ในที่สุด      จากตัวเลขของจำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์ในประเทศไทยพบว่ามีจำนวนลดลง ซึ่งนั่นน่าจะเป็นข่าวดีใช่มั้ยคะ แต่ตรงกันข้ามผู้ติดเชื้อที่เป็นวัยรุ่นกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้น คุณผู้อ่านคงไม่แปลกใจ เพราะปัจจุบันวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อีกทั้งไม่ชอบสวม
ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งทำให้โอกาสในการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มวัยรุ่นเป็นธรรมดา นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นชายบางกลุ่มมีความเชื่อที่ผิด ทำให้ความระมัดระวังตัวลดลง ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น ความเชื่อที่ว่าการกินยาขับปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ช่วยให้ไม่ติดเอดส์ เพราะคิดว่าหากโชคร้ายได้รับเชื้อขณะมีเพศสัมพันธ์ แต่สามารถขับปัสสาวะออกมากๆ จะช่วยชะล้างเชื้อเอชไอวีที่ค้างอยู่ในลำกล้องออกมาพร้อมกับปัสสาวะได้ บางคนเข้าใจเลยเถิดไปมากกว่านั้นคิดว่ายาขับปัสสาวะฆ่าเชื้อ
เอชไอวีได้ก็มี !!

    ข้อเท็จจริง คือ ขณะนี้ยังไม่มียาหรือวัคซีนชนิดใดสามารถป้องกันการติดเชื้อหรือกำจัดเชื้อเอชไอวีได้ มีแต่ยาที่ช่วยลดและควบคุมปริมาณของเชื้อเอชไอวีในร่างกายให้อยู่ในระดับต่ำให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เท่านั้น ส่วนยาขับปัสสาวะเป็นยาที่มีข้อบ่งใช้สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ ที่มีอาการบวม หรือน้ำเกินในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ได้แก่ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ไตวาย โรคหัวใจวาย และสมอง-บวม เป็นต้น ไม่ได้มีข้อบ่งใช้ในการฆ่าเชื้อไวรัสเอชไอวีหรือล้างเชื้อจากลำกล้องแต่อย่างใด ความเข้าใจที่คิดว่าการกินยาขับปัสสาวะช่วยป้องกันการติดเชื้อเอดส์ได้จึงเป็นความเชื่อที่ผิดและอันตรายอย่างยิ่ง
     สำหรับประเด็นที่เชื่อว่าการปัสสาวะมากๆ นั้นช่วยล้างท่อปัสสาวะทำให้เชื้อเอชไอวีออกไปพร้อมกับปัสสาวะนั้น หากคิดตามหลักการแล้วไม่ควรนำชีวิตทั้งชีวิตมาเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าเชื้อเอชไอวีพบมากในเลือด น้ำอสุจิ สารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำในช่องคลอด เมื่อมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อเอชไอวีจึงมีอย่างแน่นอน เพราะเราบอกไม่ได้ว่าการขับปัสสาวะสามารถล้างเชื้อออกไปทั้งหมดในครั้งเดียว และแม้ว่าจะกินยาขับปัสสาวะหลายรอบ แต่ระหว่างรอ
ขับถ่ายปัสสาวะโอกาสที่เชื้อเอชไอวีจะเข้าสู่กระแสเลือดและไปแพร่จำนวนในเม็ดเลือดขาว
ก็มีความเป็นไปได้สูงมาก กอปรกับมีข้อมูลว่าเชื้อเอชไอวีชอบแบ่งตัวและเจริญ
เติบโตในบริเวณที่มีเม็ดเลือดขาวอยู่ปริมาณมาก แต่ในน้ำปัสสาวะนั้นแทบไม่พบเชื้อ
เอชไอวีเลย ดังนั้นเมื่อเชื้อเอชไอวีไม่ชอบอยู่ในปัสสาวะการตกค้างของเชื้อบริเวณนี้ก็มีน้อยเช่นกัน การปัสสาวะจึงไม่น่าช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากเท่าไหร่

     จากที่ได้กล่าวไปทั้งหมดก็ตอบได้เลยว่า “ยาขับปัสสาวะ ไม่ได้ช่วยป้องกันการเป็นเอดส์อย่างแน่นอน” ดังนั้นใครที่กินยาขับปัสสาวะเพื่อมุ่งหวังผลดังกล่าวก็ระลึกได้เลยว่าท่านเข้าใจผิด และกำลังนำชีวิตของท่านมาเสี่ยงโดยใช่เหตุ เสี่ยงทั้งต่อการขึ้นทำเนียบผู้ป่วยโรคเอดส์ เสี่ยงทั้งผลข้างเคียงจากการกินยาขับปัสสาวะผิดข้อบ่งใช้ทางการรักษา ยิ่งกินยามากขึ้นหรือกินยาที่มีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะสูงมากเท่าใด โอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาก็จะสูงเพิ่มขึ้นเท่านั้น ยาขับปัสสาวะบางตัวทำให้การได้ยินเสื่อมลง บางตัวก็ทำให้สมรรถภาพทางเพศแย่ลงก็มี มาทำความเข้าใจกันใหม่เถอะค่ะ หันมาป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีด้วยการใช้ถุงยางอนามัยที่มีคุณภาพและใช้ให้ถูกวิธีดีกว่า เนื่องจากวิธีนี้เป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน และน่าจะเป็นวิธีป้องกันเอดส์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ดังนั้นจึงอยากแถมท้ายด้วยเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการเลือกซื้อถุงยางอนามัย วิธีใช้ที่ถูกต้อง ข้อควรระวังต่างๆ และการเก็บรักษา ค่ะ เคล็ดลับการเลือกซื้อถุงยางอนามัย

     1. อ่านฉลากก่อนซื้อ การอ่านฉลากถุงยางอนามัยก่อนซื้อทุกครั้ง จะทำให้ทราบว่าถุงยางอนามัยดังกล่าว ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วหรือไม่ ถุงยางอนามัยหมดอายุการใช้งานหรือยัง มีความเหมาะสมตรงกับความต้องการของผู้ใช้หรือไม่ ข้อความที่เป็นส่วนสำคัญที่ควรพิจารณาดูจากฉลาก ได้แก่
     - เครื่องหมาย อย.
     เครื่องหมาย อย. ที่แสดงบนภาชนะบรรจุเป็นการแสดงว่าถุงยางอนามัยดังกล่าวได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้วหรือไม่
    - วันหมดอายุ
     การกำหนดวันหมดอายุของถุงยางอนามัยผู้ผลิตจะเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสมและตามผลการศึกษาความคงสภาพของ
ถุงยางอนามัย ผู้ซื้อสามารถสังเกตว่าถุงยางอนามัยหมดอายุหรือไม่ โดยสังเกตคำว่า "หมดอายุ" หรือ "ต้องใช้ก่อน" ซึ่งจะแสดง เดือน และปี ที่หมดอายุไว้บนฟอยล์ บรรจุแต่ละชิ้นและบนซองหรือกล่องย่อย
     - ประเภทของถุงยางอนามัย
     ถุงยางอนามัยแบ่งประเภทตามขนาดความกว้างของถุงยางอนามัย (ครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวงของถุงยางอนามัย) แบ่งออกเป็น 13 ขนาด คือ 44, 45, 46, 47, 48, 49, 50, 51, 52, 53, 54, 55 และ 56 มิลลิเมตร(มม.) ขนาดที่มีจำหน่ายในเมืองไทยส่วนใหญ่จะเป็นขนาด 49 มม. 51 มม. และ 52 มม. จากการสำรวจพบว่าปกติชายไทยจะใช้ถุงยางอนามัยขนาด 49 มม. การเลือกซื้อขนาดที่ใหญ่เกินไปจะหลวมและหลุดง่าย หากขนาดเล็กไปจะฉีกขาดได้ง่าย
    - ชนิดของถุงยางอนามัย
     ถุงยางอนามัยแบ่งชนิดตามลักษณะผิว เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดผิวเรียบ และชนิดผิวไม่เรียบ การเลือกซื้อควรสังเกตดูว่าเป็นชนิดที่ตรงกับความต้องการของตนเองหรือไม่ นอกจากนี้ควรสังเกตข้อความอื่นๆ เช่น ชื่อผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า รุ่นที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต มีสารหล่อลื่นหรือสารฆ่าเชื้ออสุจิ มีสารแต่งกลิ่นหรือไม่ ฯลฯ
     2. การบรรจุ ควรตรวจดูลักษณะของซองย่อยหรือกล่องบรรจุว่า ชำรุดหรือฉีกขาดหรือไม่ หากพบการชำรุดหรือฉีกขาดไม่ควรเลือกซื้อ โดยให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนว่าถุงยางอนามัยที่บรรจุอยู่ภายในอาจฉีกขาดหรือเสื่อมคุณภาพแล้ว
     3. การจัดวางสินค้า ซื้อจากร้านค้าที่มีการเก็บถุงยางอนามัยพ้นจากแสงแดดและความร้อน วิธีการใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง
     1. นำถุงยางอนามัยออกจากซองบรรจุอย่างระมัดระวัง โดยการฉีกมุมซอง และระวังมิให้เล็บเกี่ยวถุงยางอนามัยขาด และอย่าคลี่ถุงยางอนามัยออกก่อนการสวมใส่
     2. บีบส่วนปลายของถุงยางอนามัยเพื่อไล่อากาศออก
     3. รูดถุงยางอนามัยให้ขอบถุงยางอนามัยที่ม้วนอยู่ด้านนอก
     4. สวมถุงยางอนามัยขณะอวัยวะเพศแข็งตัว หากอวัยวะเพศไม่ได้ขลิบส่วนปลายให้รูดหนังส่วนปลายก่อนการสวมใส่ ค่อยๆ
รูดถุงยางอนามัยเข้าหาตัวผู้ใช้จนสุด
     5. หลังเสร็จภารกิจ ให้ดึงอวัยวะเพศออกทันทีและถอดถุงยางอนามัยออกก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัวโดยใช้กระดาษชำระพันโคน
ถุงยางอนามัยก่อนที่จะถอด หากไม่มีกระดาษชำระจะต้องไม่ให้มือสัมผัสกับถุงยางอนามัย ควรสันนิษฐานว่า ด้านนอกของถุงยางอนามัยอาจปนเปื้อนเชื้อโรคแล้ว
     6. ถุงยางอนามัยที่ใช้แล้วให้ทิ้งในถังขยะหรือนำไปเผา ข้อควรระวังในการใช้ถุงยางอนามัย

     ระยะเวลา การใช้ถุงยางอนามัยต้องใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้ง ห้ามนำกลับมาใช้ใหม่ และการใช้แต่ละชิ้นไม่ควรนานเกิน 30 นาที เพราะหากใช้เป็นระยะเวลานาน ความแข็งแรงและความทนทานของถุงยางอนามัยอาจลดลง และทำให้ถุงยางอนามัยรั่วได้
     การใช้ร่วมกับสารหล่อลื่น การผลิตถุงยางอนามัยโดยปกติแล้วจะมีการเติมสารหล่อลื่น สารหล่อลื่นที่ใช้เป็นชนิดที่มีน้ำหรือซิลิโคนเป็นตัวทำละลาย เช่น กลีเซอรีน เค-วาย เจลลี ฯลฯ ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการให้มีการหล่อลื่นเพิ่มขึ้นโดยใช้สารหล่อลื่นมาทาถุงยางอนามัยเพิ่มนั้น ควรหลีกเลี่ยงการใช้สารหล่อลื่นประเภทที่มี น้ำมันพืช น้ำมันแร่เป็นตัวละลาย เช่น ปิโตรเลียมเจลลี น้ำมันทาผิว น้ำมันปรุงอาหาร น้ำมันใส่ผม ฯลฯ เนื่องจากน้ำมันเหล่านี้จะไปทำปฏิกิริยากับเนื้อยาง และสามารถทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ และมีรูรั่วได้ในเวลาอันสั้นแม้เพียงเสี้ยวนาที การเก็บรักษา
     ถุงยางอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากน้ำยางธรรมชาติ ซึ่งจะเสื่อมสภาพได้ด้วยตัวของมันเองเมื่อระยะเวลาผ่านไป และจะเสื่อมคุณภาพมากขึ้นหากเก็บรักษาไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าภาชนะบรรจุอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ดังนั้นถุงยางอนามัยที่ได้ผ่านการผลิต การควบคุมคุณภาพจนได้มาตรฐานแล้วจำเป็นจะต้องมีการเก็บรักษาให้ถูกต้อง เพื่อรักษาสภาพ คุณภาพให้เป็นไปตามที่ต้องการดังนี้
     1. ไม่เก็บรักษาในที่มีความชื้นสูง ในที่ร้อน หรือสัมผัสโดยตรงกับแสงแดดหรือแสงฟลูออเรสเซนต์
     2. ไม่เก็บถุงยางอนามัยไว้ในช่องเก็บของในรถยนต์ เนื่องจากมีโอกาสได้รับความร้อนสูงเป็นระยะเวลานาน
     3. ไม่เก็บในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น กระเป๋าสตางค์ หรือกระเป๋ากางเกงด้านหลัง เพราะจะมีการกดทับหักงอ ทำให้ถุงยางอนามัยฉีกขาดได้ง่าย หรือซองบรรจุฉีกขาดทำให้มีการปนเปื้อนจากภายนอกได้ เอกสารอ้างอิง
1. กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา.ความรู้ทั่วไป เรื่อง เอดส์กับถุงยางอนามัย. 2537
2. สวัสดิ์ พุ่มวิจิตร. ถุงยางอนามัยกับการแพร่ระบาดของโรคเอดส์.2540
3. เชิดเกียรติ แกล้วกสิกิจ , ผู้เรียบเรียง. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคเอดส์ . [online] . เข้าถึงได้จาก : http://dpc9.ddc.moph.go.th/napha9/ , 2548




ที่มา www.healthtoday.net

TOP