หน้าแรก เว็บบอร์ด


สั่งพิมพ์

สารให้ความหวานในอาหาร

สารให้ความหวานในอาหาร

พญ.อภัสนี บุญญาวรกุล

ความหวานช่วยให้อาหารและเครื่องดื่มมีรสชาติอร่อยน่ารับประทานมากขึ้น และก็มีคนไม่น้อยที่ชอบอาหารรสชาติหวานๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาวหรือขนมหวาน จริงๆ แล้วสารให้ความหวานมีอยู่ในอาหารธรรมชาติ เช่น ในผัก ผลไม้ ดังนั้นถ้าคุณรับประทานผักผลไม้ร่างกายก็จะได้รับสารให้ความหวานเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว

ในทางการแพทย์สารให้ความหวานแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nutritive sweetener) และสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nonnutritive sweetener)

สารให้ความหวานที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่รู้จักกันดีและใช้กันทั่วไป ได้แก่ น้ำตาล (sugar) ถ้าใช้คำว่า sugar หมายถึง น้ำตาลซูโครส ถ้า sugars หมายถึงน้ำตาลอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งมีหลายชนิด เช่น ซูโครส กลูโคส ฟรุคโตส และมอลโตส เป็นต้น น้ำตาลซูโครสคือน้ำตาลทรายที่ใช้ปรุงอาหาร ฟรุคโตสพบในผัก ผลไม้ มอลโตสมีมากในน้ำนม ซึ่งน้ำผึ้ง น้ำผลไม้ น้ำเชื่อม น้ำอ้อย ก็จัดเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่ง ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาว่าปราศจากน้ำตาลส่วนใหญ่จะหมายถึงไม่มีน้ำตาลซูโครส แต่อาจจะมีน้ำตาลชนิดอื่นๆ น้ำตาลจัดเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ซึ่งอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตทุกชนิดจะถูกแปลงเป็นน้ำตาลกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานของสมองและระบบต่างๆ ของร่างกาย

น้ำตาลยังเป็นตัวการสำคัญของโรคและมีผลกระทบกับสุขภาพร่างกายหลายด้านอีกด้วย เช่น ทำให้ฟันผุ เนื่องจากเมื่อเรารับประทานอาหารที่มีน้ำตาลเข้าไปเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจะทำการย่อยสลายน้ำตาลในปากไปเป็นกรดซึ่งสามารถทำลายสารเคลือบฟันของเราจนทำให้ฟันผุ นอกจากนี้ยังควรทำความเข้าใจด้วยว่า การรับประทานน้ำตาลในปริมาณมากไม่ได้เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะพฤติกรรมการไม่อยู่เฉย (hyperactive) ในเด็ก รวมทั้งไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานโดยตรงในผู้ที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานอยู่แล้วควรหลีกเลี่ยงอาหารหวานหรือขนมหวาน เนื่องจากจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ การรับประทานน้ำตาลปริมาณมากก็สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคเบาหวานขึ้นได้

นอกจากนี้คุณอาจจะเคยเห็นผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานมีการโฆษณาว่าปราศจากน้ำตาล แท้จริงแล้วปราศจากน้ำตาลซูโครส แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้ฟรุคโตสแทน เนื่องจากการรับประทานน้ำตาลฟรุคโตส มีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นน้อยกว่าการรับประทานแป้งและซูโครส ดังนั้นจึงนำมาเป็นส่วนผสมในอาหารขนม เช่น ลูกกวาด แยม เครื่องดื่มสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

แต่อย่างไรก็ตามถ้ารับประทานน้ำตาลต่างๆ มากกว่าร้อยละ 20 ของพลังงานจะมีผลเพิ่มระดับไขมันโคเลสเตอรอลรวม และโคเลสเตอรอลที่ไม่ดี (LDL) ซึ่งถ้าโคเลสเตอรอลรวมและโคเลสเตอรอล LDL สูงก็จะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดมากขึ้น

ในส่วนของผู้ที่ต้องการลดหรือควบคุมน้ำหนักก็ไม่ควรรับประทานน้ำตาลในปริมาณมาก เพราะจะทำให้ได้พลังงานมาก น้ำตาลให้พลังงาน 4 แคลอรี/กรัม หรือน้ำตาล 1 ช้อนชา ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี ถ้าร่างกายได้รับพลังงานมากเกิน ก็จะสะสมในรูปไขมันและเกิดโรคอ้วนในที่สุด ผลตามมาจากความอ้วนมีมากมาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงอาจก่อให้เกิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันโรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ข้อเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งเต้านมในเพศหญิง มะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชาย การทำงานของปอดลดลง เนื่องจากชั้นไขมันหนารอบทรวงอกทำให้การขยายตัวของปอดทำได้ไม่ดีนัก และไขมันที่หนาบริเวณท้องก็ทำให้กระบังลมยืดหยุ่นตัวได้ไม่ดี ดังนั้นจึงสังเกตว่าในคนที่อ้วนมากจะมีอาการหายใจลำบาก หรือมีการหยุดหายใจเป็นระยะๆ ในขณะนอนหลับเรียกว่า sleep apnea ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดศีรษะในเวลาเช้า ง่วงนอน หายใจช้าในเวลากลางวัน เป็นต้น

สำหรับสารให้ความหวานที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ (nonnutritive sweetener) ที่ใช้กันทั่วไปเป็นสารให้ความหวานที่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริการับรองว่าปลอดภัย ได้แก่ Saccharine (sweet’ N low) มีความหวาน 300 เท่าของน้ำตาล Aspartam (Nutrasweet, Equal) มีความหวาน 180 เท่า Acesulfame potassium นิยมใส่ในเครื่องดื่ม soft drink ความหวาน 200 เท่า sucralose ความหวาน 600 เท่าของน้ำตาล สารเหล่านี้มีค่าที่กำหนดปริมาณที่ใช้ผสมในอาหารที่คนสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัยต่อวัน (Acceptable Daily Intake, ADI) แต่ก็มีการงานวิจัยบางชิ้นอ้างว่าน้ำตาลประเภทนี้บางชนิดก็เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน

ในทางปฏิบัติการเลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย ร่างกายจะได้ทั้งน้ำตาล และสารอาหารครบเนื่องจากในผัก ผลไม้ มีทั้งน้ำตาล และคุณค่าสารอาหารอย่างอื่นด้วย ถ้าคุณไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนัก และห่างไกลจากความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานของหวานๆ เครื่องดื่มรสหวาน และอาหารที่มีน้ำตาลมากก็จะดีไม่น้อยทีเดียว



ที่มา  www.healthtoday.net

TOP