หน้าแรก เว็บบอร์ด


สั่งพิมพ์

เรียนรู้เรื่องเบา...หวาน

เรียนรู้เรื่องเบา...หวาน

ในคนปกติเมื่อรับประทานอาหารเข้าไป อาหารจะถูกย่อยให้เป็นน้ำตาล โปรตีนขนาดเล็ก ไขมัน และกากอาหาร สารอาหารเหล่านี้จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย เมื่อสารอาหารประเภทน้ำตาลไปถึงอวัยวะต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยอินซูลินที่สร้างจากตับอ่อนเป็นกุญแจสำคัญในการนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ เพื่อให้เซลล์สามารถทำงานได้ และเป็นการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ


เบาหวานคืออะไร
       โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ เกิดจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน หรือทั้งสองอย่าง ทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดเข้าไปในเซลล์ต่าง ๆ ไม่ได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ
      
       โรคเบาหวานที่พบเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชนิด
       เบาหวานชนิดที่ 1
       เป็นเบาหวานที่พบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ตามปกติ
      
       อาการ
       1.มักปัสสาวะบ่อย อาจพบประวัติปัสสาวะรดที่นอนในเด็กโต กระหายน้ำ ดื่มน้ำบ่อย กินจุ หิวตลอดเวลา แต่น้ำหนักลด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง อาจมีการติดเชื้อที่ผิวหนัง หรือเป็นแผลแล้วหายช้า
      
       2.ตรวจพบน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ
       -น้ำตาลมากกว่า หรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังอดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง(ในคนปกติระดับน้ำตาลน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
       -น้ำตาลมากกว่า หรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เมื่อไม่อดอาหาร
      
       3.มีอาการแสดงของภาวะเลือดเป็นกรด และตรวจพบสารคีโตนในเลือดหรือปัสสาวะ เมื่อร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาล ร่างกายจะย่อยสลายไขมันเพื่อเป็นแหล่งพลังงานแทน เกิดการสร้างคีโตนที่มีฤทธิ์เป็นกรด และทำให้ร่างกายไม่สบาย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หายใจหอบลึก ในรายที่เป็นมากอาจไม่รู้สึกตัวหมดสติ และหากไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
      
       การรักษา
       1. ฉีดอินซูลิน เมื่อตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ จึงต้องอาศัยอินซูลินจากภายนอก ฉีดเข้าไปทดแทน โดยทั่วไปฉีดยาอินซูลินวันละ 2-4 ครั้ง ซึ่งอินซูลินมีหลายชนิด ทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้น ปานกลาง และออกฤทธิ์ยาว ชนิด ขนาดและจำนวนครั้งที่จะใช้อินซูลินนั้น ขึ้นกับอาหาร กิจวัตรประจำวัน และระดับน้ำตาลในร่างกาย
      
       2.อาหาร ควรรับประทานให้เป็นเวลาและจัดให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องการอาหารว่างวันละ 1-3 มื้อ ขึ้นกับความต้องการของ ร่างกาย กิจวัตรประจำวันและระดับน้ำตาลในแต่ละช่วงวัน
      
       3.การออกกำลังกาย ทำได้ตามปกติ แต่ต้องมีการวางแผนระวังระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ควรรับประทานอาหารว่างก่อนและระหว่างออกกำลังกาย เพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การออกกำลังกายจะช่วยให้เซลล์ต่าง ๆ นำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานมากขึ้น มีผลทำให้ควบคุมโรคเบาหวานได้ดีขึ้น

       เบาหวานชนิดที่ 2
       พบบ่อยในผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัวมาก โดยเฉพาะในรายที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน เบาหวานชนิดนี้ตับอ่อนยังสามารถผลิตอินซูลินได้ แต่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้น้ำตาลไม่สามารถเข้าสู่เซลล์เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานได้ น้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ
      
       อาการ
      
       ไม่ชัดเจนเหมือนเบาหวานชนิดที่ 1 ส่วนใหญ่พบโดยบังเอิญหรือจากการตรวจสุขภาพประจำปี บางรายมีประวัติติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือมีผื่นเชื้อราในร่มผ้าเป็น ๆ หาย ๆ ตรวจร่างกายมักพบผิวหนังเป็นปื้นหนาดำรอบลำคอ รักแร้ หรือขาหนีบ ปื้นดำที่ซอกคอ บ่งบอกถึงภาวะที่เนื้อเยื่อดื้อต่ออินซูลิน
      
       การวินิจฉัย
      
       1.มีอาการแสดงของโรคเบาหวาน คือ ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำมาก น้ำหนักลด ร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า (หรือเท่ากับ) 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ
      
       2. มีระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่งโมง มากกว่า (หรือเท่ากับ) 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือ
      
       3. มีระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 2 ชั่วโมง หลังรับประทานกลูโคส 75 กรัม

       การรักษา
       การรับประทานอาหารที่ถูกหลักและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นหัวใจหลักของการรักษาโดย
      
       1.อาหาร ควรรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะกับความต้องการของร่างกาย หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไขมันหรือมีรสหวานจัด ควรรับประทานอาหารเป็นมื้อ ไม่จุบจิบ และกรณีที่น้ำหนักเกิน ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่น้อยลงเท่าที่ร่างกายต้องการ เพื่อให้น้ำหนักลดลงประมาณ 5 -10 % ของน้ำหนักเดิม
      
       2.การออกกำลังกาย ควรทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอทุกวัน อย่างน้อยวันละ 30 นาที เพื่อให้อินซูลินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการใช้พลังงานและลดไขมันส่วนเกิน
      
       3.ยารับประทาน เนื่องจากเบาหวานชนิดที่ 2 ตับอ่อนสร้างอินซูลินได้ จึงสามารถใช้ยารับประทานในการควบคุมน้ำตาลได้
      
       4.อินซูลิน ในเบาหวานชนิดที่ 2 อาจต้องใช้อินซูลินเป็นครั้งคราว เช่น ภาวะที่มีเลือดเป็นกรดและมีสารคีโตนคั่ง หรือในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานเป็นเวลานานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้โดยยารับประทานเพียงอย่างเดียว
ไฟลล์แนบ: ระดับของกลุ่มสมาชิกนี้ไม่สามารถมองเห็นไฟลล์แนบได้

TOP