หน้าแรก เว็บบอร์ด


สั่งพิมพ์

กลั้นปัสสาวะ...อันตราย แบททีเรียในเลือดสูง ช็อคได้

กลั้นปัสสาวะ...อันตราย แบททีเรียในเลือดสูง ช็อคได้

ทำงานเพลิน ติดประชุมต่อเนื่อง ต้องเดินทางตลอดทั้งวันเจอสภาพรถติดอยู่ในรถ ไม่สามารถที่จะปัสสาวะได้ ก็เลยต้องกลั้นปัสสาวะด้วยความจำเป็น แถมบางคนไม่ค่อยชอบดื่มน้ำระหว่างทำงาน เพราะขี้เกียจที่จะลุกไปเข้าห้องน้ำ ไม่เห็นต้องเป็นห่วงเลย ไม่น่าเกิดปัญหาอะไร แค่กลั้นปัสสาวะเฉยๆ คงไม่เป็นไร
         แล้ววันร้ายคืนร้ายก็เกิดขึ้น หลังจากกลั้นปัสสาวะ แล้วเกิดอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะไม่ค่อยออก เจ็บแสบท่อปัสสาวะ บางคนมีอาการปัสสาวะเป็นเลือดด้วย ตกใจบวกกับ ความทรมานที่นึกไม่ถึง ก็เรียกว่าเกิดเรื่องเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะขึ้นแล้วคนที่เคยมี ประสบการณ์ก็จะบอกได้ว่า เกิดภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบเฉียบพลัน
         เรื่องที่เกิดขึ้นมักเกิดกับสตรีมากกว่าคุณผู้ชาย เนื่องเพราะความแตกต่างของสรีระของสองเพศคือ ท่อปัสสาวะของคุณผู้หญิงจะสั้นกว่ามากคือ มีความยาวเพียง 4-5 cm. เท่านั้น ในขณะที่ท่อปัสสาวะของผู้ชายจะยาวกกว่ามาก จึงทำให้โอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะของสตรีง่ายกว่า
         ธรรมชาติได้มีกลไกที่สำคัญในการที่จะล้างและขับเอาเชื้อโรคที่อาจจะหลุดเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะคือ การปัสสาวะอย่างสม่ำเสมอ ทุกครั้งที่มีการปัสสาวะก็คือ การล้างเอาเชื้อโรคที่พลัดหลงเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะทิ้งสู่ภายนอกนั่นเอง ในกรณีที่กลั้นปัสสาวะไว้เป็นเวลานานๆ ก็เปรียบเหมือน การที่ปล่อยให้เกิดน้ำขังนิ่งไม่เกิดการไหลเวียนไว้ในบ่อเป็นเวลานานๆ เชื้อโรคต่างๆ ก็จะเจริญเติบโตมีการเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนน้ำในบ่อเน่าเสีย ก็คือ เกิดการเพิ่มจำนวนเชื้อโรคในน้ำปัสสาวะจนก่อให้เกิดโรค คือเกิดการติดเชื้อได้นั่นเองและเชื้อโรคก็จะวิ่งเข้าเล่นงานอวัยวะที่ใกล้ที่สุดคือ กระเพาะปัสสาวะ เกิดการอักเสบและทำให้เกิดอาการ ต่างๆตามมา
         ความจริงประการหนึ่งที่ร่างกายทำได้คือ เชื้อโรคในปริมาณน้อยๆ ไม่สามารถทำให้เกิดโรคได้ แต่เชื้อโรคชนิดเดียวกันเมื่อเพิ่มจำนวนขึ้นมากๆ ก็ก่อให้เกิดโรคได้และทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมายนั่นเอง
         การกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ จึงเป็นการกระทำที่ไปเปลี่ยนกลไกการทำความสะอาดกระเพาะปัสสาวะนั่นเอง และทำให้เกิดปัญหาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะตามมาได้ พบได้บ่อยในคนที่นั่งทำงานเพลิน ไม่ค่อยปัสสาวะ บางครั้งไม่ปวดมากแต่ร่างกายได้เตือนแล้วว่า ถึงเวลาที่ควรปัสสาวะแล้ว บางรายหนักยิ่งขึ้นไปอีกคือคนที่ไม่ค่อยชอบดื่มน้ำ ทำให้การสร้างปัสสาวะลงลด ก็ไม่ต้องไปฉี่บ่อยและยังกลั้นอีกด้วย ก็เรียกว่า ทำร้ายร่างกายตนเองมากขึ้น โอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อก็ง่ายยิ่งขึ้น
         ร่างกายของมนุษย์ มีความลึกซึ้งมากในเรื่องกลไกการป้องกันตัวเองแม้กระทั่งเรื่องการปัสสาวะ คือ พบว่า เวลาที่ไปปัสสาวะ ส่วนของปัสสาวะที่ออกมาในช่วงต้นๆ จะเป็นปัสสาวะที่เกิดขึ้นก่อนและขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะนานกว่า ส่วนที่ปัสสาวะออกมาทีหลัง
         ในทางการแพทย์ใช้หลักการในการเป็นแนวทางการวินิจฉัยโรคคือ ถ้าปัสสาวะที่ออกมาก่อน มีความขุ่น (มักจะเกิดจากการอักเสบติดเชื้อ) ก็พอจะบอกได้ว่าการอักเสบเกิดขึ้นในระบบปัสสาวะส่วนที่อยู่ต่ำๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ แต่ถ้าปัสสาวะที่ออกมาก่อนใสดี และเริ่มขุ่นในช่วงท้ายๆ ก็ให้คิดว่าการอักเสบน่าจะเกิดที่ส่วนทางเดินปัสสาวะที่อยู่สูง เช่น หลอดไต หรือ ที่ไตข้างใดข้างหนึ่ง หลายคนคงสงสัยว่าจะตรวจอย่างไรว่าปัสสาวะส่วนต้น หรือส่วนปลาย วิธีการง่ายๆ คือ ให้ปัสสาวะใส่แก้ว ใหญ่สามใบ ก็จะพอบอกได้ว่าส่วนต้นและส่วนปลายมีความผิดปรกติหรือไม่
         เมื่อมีการอักเสบของน้ำปัสสาวะ ก็จะทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบตามมา จะมีอาการคือ ปัสสาวะบ่อย แสบ เจ็บที่ท่อปัสสาวะ บางคนบอกว่าเหมือนโดนมีดบาดเวลาปัสสาวะทีเดียว มักจะกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ บางรายที่มีอาการมากอาจจะปัสสาวะเป็นเลือดได้ ซึ่งเมื่อเกิดสภาพอย่างนี้คนไข้มักทนต่อไปไม่ได้ต้องไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาทันที เมื่อเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะทำให้กระเพะปัสสาวะเกิดความไวกว่าปรกติ คือ ความสามารถในการเก็บปัสสาวะจะทำได้น้อยลง จึงทำให้ปัสสาวะบ่อย ครั้งละไม่มาก บางรายการอักเสบไม่อยู่เพียงแค่ กระเพาะปัสสาวะ แต่ลุกลามขึ้นไปที่ไตเกิดการอักเสบที่เรียกว่า กรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งคือ การอักเสบของเนื้อไตและเยื่อบุภายใน หลอดไตที่เชื่อมต่อกับไต (เรียกว่า กรวยไต ) ถือว่าเป็นโรคที่มีความรุนแรง ซึ่งหากรักษาไม่ถูกต้องอาจมีอันตรายร้ายแรง เช่น เกิดโลหิตเป็นพิษ หรือ ไตวายเฉียบพลันได้
         สาเหตุที่ทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ และกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยได้แก่เชื้อ อีโคไล ( E.Coli ) ซึ่งเป็นเชื้อที่พบในอุจจาระของคนทั่วไป เนื่องจากทวารหนักและท่อปัสสาวะอยู่ใกล้กันมากโอกาสในการปนเปื้อนจึงเกิดขึ้นได้ และทำให้เชื้อโรคหลุดเข้าไปในน้ำปัสสาวะ เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและย้อนขึ้นไปตามหลอดไต เกิดการอักเสบที่กรวยไตได้ โรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการ ไข้สูง หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มักมีอาการปวดท้อง ปวดบั้นเอวด้านในด้านหนึ่ง และปัสสาวะขุ่น ถ้าเป็นมากอาจจะปัสสาวะเป็นหนองได้
         โรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ถือเป็นโรคที่รุนแรงและมีอันตราย ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้องภายใน 24 ชั่วโมง คือ ได้รับการตรวจวินิจฉัย และหาสาเหตุร่วม เช่นการมีนิ่วอุดตันในทางเดินปัสสาวะ หากได้รับการรักษาช้าอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะไตวายเฉียบพลัน หรือภาวะโลหิตเป็นพิษ และจะพบความรุนแรงยิ่งขึ้นในกรณีที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ พบว่าการรักษาโรคกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน ต้องได้รับยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ และต้องให้สารน้ำทางน้ำเกลือในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนมาก เพื่อรักษาสมดุลเกลือแร่ และน้ำในร่างกาย
         การป้องกัน การอักเสบของทางเดินปัสสาวะ อาจทำได้โดย ดื่มน้ำมากๆในเวลาที่ปัสสาวะได้ เพื่อช่วยให้ร่างกายขับเอาเชื้อโรคทิ้งออกจากร่างกาย ไม่กลั้นปัสสาวะเพื่อลดโอกาสการเพิ่มจำนวนของเชื้อโรคในน้ำปัสสาวะ หลังถ่ายอุจจาระ ควรทำความสะอาดโดยใช้กระดาษชำระ เช็ดทำความสะอาดจากด้านหน้าไปสู่ด้านหลัง (ไม่เช็ดจากด้านหลังมาด้านหน้า เพราะทวารหนักอยู่ด้านหลังท่อปัสสาวะ)
         หากมีอาการของกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ควรรีบรักษาอย่างจริงจังเพื่อไม่ให้ลุกลามการอักเสบไปที่กรวยไตและเนื้อไต ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยเบหวานอย่าวางใจเด็ดขาด เพราะการอักเสบที่รุนแรง อาจเกิดถุงหนองรอบไต และติดเชื้อเข้ากระแสเลือด อันตรายถึงชีวิตได้ พฤติกรรมของมนุษย์ มีผลต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้มากมาย เช่น การกิน การนอนหลับ การใช้คอในกรณีนอนอ่านหนังสือ หรือนอนดูทีวีหรือการเงยคอบ่อยๆ เรียกว่าใช้คอในท่าที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้กระดูกต้นคอเสื่อมได้ เช่นเดียวกันการกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ ก็ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้
         การที่มีความรู้และเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ ของมนุษย์ อย่างถูกต้องและนำมาปรับเปลี่ยนใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละคนจึงเป็นวิธีการที่ดี ที่จะป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพได้ทางหนึ่งทีเดียว

ข้อมูลทางการแพทย์
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
พบมากกว่าร้อยละ 70 ของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ พบบ่อยในเพศหญิงในช่วงวัยรุ่นและวัยเจริญพันธุ์ สาเหตุที่โรคนี้พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้น และอยู่ใกล้ทวารหนักซึ่งเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคมาก เชื้อโรคจึงเข้าทางท่อปัสสาวะของผู้หญิงได้ง่ายกว่าผู้ชาย จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้หญิงที่เกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะร้อยละ 70 จะกลับเป็นซ้ำอีกภายใน 6 เดือน
ผู้หญิงแทบทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้ ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยสูงอายุ พบมากในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ หรือผู้หญิงที่ชอบอั้นปัสสาวะนานๆ ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อย ถ้าพบมักมีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมลูกหมากโตหรือมีก้อนเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ หรือมีความผิดปกติทางโครงสร้างของทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังอาจพบเป็นโรคแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากโต หรือพบภายหลังการสวนปัสสาวะ
สาเหตุ
ส่วนใหญ่โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากการกลั้นปัสสาวะมากไป รับประทานน้ำไม่พอเพียง การกลั้นปัสสาวะเป็นเวลานาน เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่สำคัญที่สุด ในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่าเป็นบ่อยๆ เนื่องจากมีความผิดปกติทางกายวิภาคของของกระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ หรืออาจพบว่าเป็นโรคนิ่วร่วมด้วย
ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ พบว่ามีอาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้บ่อยภายหลังจากการมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในช่วงระยะหลังการแต่งงานใหม่ๆ อาจเกิดการฟกช้ำจากการร่วมเพศ แล้วทำให้มีอาการอักเสบของท่อปัสสาวะ เชื้อแบคทีเรียหลุดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย เกิดการอักเสบติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะขึ้น เรียกภาวะดังกล่าวว่า Honeymoon Cystitis
อาการ
ปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด ครั้งละไม่มาก รู้สึกถ่ายไม่สุด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เจ็บมากตอนปลายของปัสสาวะ บางรายมีเลือดออกมาด้วย ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดที่ท้องน้อยร่วมด้วย ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็น สีมักจะใส แต่บางคนอาจขุ่นหรือมีเลือดปน อาการอาจเกิดขึ้นหลังกลั้นปัสสาวะนานๆ หรือหลังมีเพศสัมพันธุ์ ในเด็กเล็กอาจมีอาการปัสสาวะรดที่นอน อาจมีไข้ เบื่ออาหาร และอาเจียน การตรวจร่างกายมักจะตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน บางคนอาจพบการกดเจ็บเล็กน้อยตรงบริเวณกลางท้องน้อย
การวินิจฉัย
โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สามารถให้การวินิจฉัยได้จากอาการทางปัสสาวะดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการตรวจ ปัสสาวะพบเม็ดเลือดขาวและแบคทีเรีย
  • เม็ดเลือดขาวที่ตรวจพบในปัสสาวะมากกว่า 5-10 ตัว เมื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยใช้กำลังขยายสูง โดยเป็นการตรวจปัสสาวะสดและไม่ปั่น
  • แบคทีเรียที่ตรวจพบในปัสสาวะมากกว่า 1 ตัว เมื่อตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์โดยใช้กำลังขยายสูง เมื่อตรวจปัสสาวะสดและไม่ปั่น หรือพบแบคทีเรียตั้งแต่ 1ตัวจากการย้อมสีแกรม
การเพาะเชื้อปัสสาวะ มีความจำเป็นในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีอาการเกิน 7 วัน ผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นหลายๆ ครั้ง และผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรังอื่น เช่น เบาหวาน โรคตับ โรคไต
การตรวจปัสสาวะด้วยแถบตรวจ วิธีนี้เป็นการตรวจปัสสาวะที่สะดวกและรวดเร็ว กระทำได้ทั่วไป สามารถตรวจได้หลายอย่าง ถ้าตรวจเม็ดเลือดขาว พบว่าความไวของแถบตรวจสูงกว่าร้อยละ 80 และความจำเพาะสูงกว่าร้อยละ 95 แต่ถ้าตรวจเชื้อแบคทีเรีย พบว่าความไวของแถบตรวจไม่ดีเท่าที่ควร บางรายแพทย์อาจพิจารณาตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจภาพรังสีเอกซเรย์ หรือการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินปัสสาวะ
การรักษา
  • พิจารณาให้ยาปฏิชีวนะ ควรเลือกยาที่มีความไวสูงตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลความไวของเชื้อต่อยาในชุมชนของผู้ป่วย
  • เชื้อก่อเหตุในผู้ป่วยไทยมีอัตราการดื้อยา amoxicillin และ co-trimoxazole สูง ดังนั้นยาตัวแรกที่เลือกใช้ควรเป็น norfloxacin
  • สำหรับสตรีตั้งครรภ์และเด็ก เลือกใช้เป็นเศฟาโลสปอรินส์รุ่นที่ 3 ชนิดกิน เช่น cefdinir, cefixime, ceftibuten
  • ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย หรือมีประวัติได้รับยาปฏิชีวนะมาภายในหนึ่งเดือน ควรพิจารณาใช้ยาในกลุ่มควิโนโลนรุ่นที่ 2 ได้แก่ ofloxacin, lomefloxacin, ciprofloxacin
การป้องกัน
  • พยายามดื่มน้ำมากๆ และอย่ากลั้นปัสสาวะ ควรฝึกการถ่ายปัสสาวะนอกบ้าน หรือระหว่างเดินทางได้ทุกที่ การกลั้นปัสสาวะทำให้เชื้อโรคอยู่ในกระเพาะปัสสาวะได้นานจนสามารถเจริญเติบโตทำให้เกิดการอักเสบได้
  • หลังถ่ายอุจจาระควรใช้กระดาษชำระเช็ดทำความสะอาดจากข้างหน้าไปข้างหลังเพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อโรคเข้าสู่ท่อปัสสาวะ
  • สำหรับอาการขัดเบาหลังร่วมเพศ (Honeymoon’ s cystitis) อาจป้องกันได้โดยดื่มน้ำ 1 แก้ว ก่อนร่วมเพศควรใส่ครีมหล่อลื่นช่องคลอดก่อนถ้าจำเป็น และถ่ายปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ บางครั้งอาจต้องรับประทานยาถ้ามีการติดเชื้อ
  • ระหว่างที่มีตกขาว ควรทำความสะอาดบ่อยขึ้น อย่าให้หมักหมมถ้าจำเป็นอาจต้องพบแพทย์นรีเวช
  • หลีกเลี่ยงอาการท้องผูกนานๆ ถ้าจำเป็นอาจต้องกินยา

TOP